Timeline การลงทะเบียนเรียน
- Pat Peera Pokuntha
- Jun 30, 2019
- 3 min read
Updated: May 18, 2022
"Timeline การลงทะเบียนเรียน" เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคน ควรจะมีความรู้นี้ไว้เป็นพื้นฐาน จะได้รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนของระบบการลงทะเบียนเรียนแล้ว? เพราะเป็นสิ่งที่เราจะต้องเจอกับมันทุก ๆ เทอม จะหวังพึ่งให้เพื่อนช่วยดูช่วยลงให้ตลอดไปก็คงไม่ได้ โดยตลอด 4 ปี ในการเรียนมหาวิทยาลัย เราจะต้องเจอกับมันอย่างน้อยถึง 8 ครั้งด้วยกัน (แต่ถ้าเรียนซัมเมอร์ด้วยก็จะเยอะกว่านี้!!)
และถึงแม้ว่าทาง มช. จะลงทะเบียนเรียนให้ปี 1 เป็นแบบแพ็กเกจแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีวิชาตัวฟรีหรือตัวเลือก น้อง ๆ ก็ต้องลงทะเบียนเรียนเองเพิ่มอยู่ดี และในเทอมต่อ ๆ ไป มช. ก็จะไม่ได้ลงแบบแพ็กเกจให้เราแล้วนะ เราต้องจัดตารางเรียนเอง ลงทะเบียนเรียนเองอยู่ดีจ้า
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างแรกก็คือ เราจะไม่ได้เรียนกันแบบประถมหรือมัธยม ที่จะเรียนวิชาเดิม ๆ ซ้ำกันทุก ๆ ปีแล้วนะ แต่ในระดับมหาลัยจะมีวิชาประมาณ 40 - 50 วิชา ที่ไม่ซ้ำกัน (สายวิทย์สุขภาพจะเยอะกว่านี้) ที่เราจะต้องเรียนให้หมดภายใน 4 ปี หรือ 5 ปี ตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ โดยเราจะต้องจัดตารางเรียนเอง แต่ตัวหลักสูตรก็จะมีโครงมาให้ว่าเทอมไหน เราควรจะเรียนอะไรบ้างอยู่นะ โดยโครงอันนี้ก็คือได้พิจารณามาอย่างดีแล้ว ดังนั้น ถ้าเราเรียนตามโครงนี้ได้ก็จะดีมาก จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวจัดเอง 5555
โดยวิชาก็จะมีหลายประเภทมาก ไม่ว่าจะเป็น “วิชาตัวบังคับ” ที่เราจะต้องเรียน, “วิชาตัวเลือก” ที่เราจะต้องเลือกเรียนจำนวนหนึ่งจากทั้งหมดที่เค้ามีให้เลือก, “วิชาตัวฟรี” ลงเรียนวิชาอะไรก็ได้ที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรเรา และวิชาอีกบลา ๆ มากมาย ที่เราจะต้องไปนั่งอ่านหลักสูตรกันเอง เพราะว่าแต่ละคณะ แต่ละสาขาก็เรียนไม่เหมือนกันแต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ระวังไว้ ก็คือ "วิชาตัวต่อ" ก็คือวิชาที่ต้องเรียนตัวแรกให้ผ่านก่อน ถึงจะมาลงเรียนตัวที่สองได้ ซึ่งถ้าเราไม่ผ่าน เราก็ต้องลงเรียนตัวแรกใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะผ่าน ถึงจะเร่ิมเรียนตัวที่สองได้ ซึ่งมันก็จะเป็นภาระดันไปเรื่อย ๆ ทำให้เราเรียนไม่จบสักที!! เริ่มนอกเรื่องไปไกล กลับมาเข้าเรื่องกันดีกว่า...

ถ้าดูจากรูปจะเห็นได้ว่า ตารางแต่ละเทอมจะทับกันอยู่!? ใช่แล้วครับ มันจะทับกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงปี 62 ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปเปิดเทอมแบบเดิม (ไม่ตามอาเซียนแล้วแม่) Timeline ก็จะถูกบีบ ๆ หน่อย ทั้งช่วงปิดเทอมที่ลดลง ตารางที่ซ้อนทับกันมากขึ้น เช่น เกรดเทอม 1 ประกาศตอนเปิดเทอม 2 ไปแล้ว อะไรแบบนี้!!
โดยในแต่ละเทอม ก็จะมี Timeline เรียงลำดับ ดังนี้...
ลงทะเบียนเรียนล่วงหน้า
(ระยะเวลา 7 วัน) (ผ่านระบบออนไลน์)
อย่างที่ชื่อบอกว่า "ล่วงหน้า" ก็คือยังไม่ได้เป็นการลงทะเบียนอย่างเต็มรูปแบบ
แต่รอบนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญพอสมควรเลยนะ เพราะการ Add วิชาส่วนใหญ่ Sec ก็จะเต็มตั้งแต่รอบนี้เลย ดังนั้น จะลงวิชาอะไรก็ดู Conditionให้ดี ๆ ด้วยนะ
Add, แอด คือการลงทะเบียนเรียน โดยใน 1 วิชา เราจะเลือกแอดได้เพียงเสคเดียวเท่านั้น
Sec, Section, เสค คือห้องเรียน โดยใน 1 วิชา ก็จะมีหลายเสค แต่ละเสคก็จะมีวันและเวลาเรียนที่แตกต่างกันออกไป
Condition คือ เงื่อนไขในการลงทะเบียนเรียน จะมีหลายแบบ เช่น เป็นวิชาตัวต่อ ถ้าเราไม่ผ่านตัวก่อนหน้านี้มา ก็จะติด con ลงไม่ได้ หรือเสคนั้นมีการกำหนดว่าลงได้เฉพาะคณะนี้สาขานี้ชั้นปีนี้เท่านั้นอะไรแบบนี้ คนอื่นก็จะลงไม่ได้
จะลงทะเบียนวันไหนก็ได้ในเวลาที่กำหนด ไม่ต้องรีบลงตั้งแต่วันแรกให้เว็บมันล่ม เพราะไม่ใช่รูปแบบการมาก่อนได้ก่อน แต่เป็นรูปแบบของการสุ่มจ้า ใช้แต้มบุญล้วน ๆ
จะมีการประมวลผล (สุ่มผู้โชคดี) แค่ 1 ครั้งเท่านั้น ก็คือหลังจากวันลงทะเบียนล่วงหน้าเสร็จไปแล้ว
** ขั้นตอนนี้ ปี 1 เทอม 1 จะยังเข้าระบบไม่ได้นะครับ **
ประกาศผลลงทะเบียนเรียนล่วงหน้า
(หลังจากวันลงทะเบียนล่วงหน้าประมาณ 10 วัน) (ถ้าซัมเมอร์จะประมาณ 3 วัน) (ผ่านระบบออนไลน์)
เราจะได้รู้ผลว่าที่เราลงทะเบียนไปนั้นติดมั้ย? หรือผิดเงื่อนไขอะไรมั้ย?
เพิ่ม-ถอน กระบวนวิชา
(ระยะเวลาประมาณ 10 วัน) (ผ่านระบบออนไลน์)
ใช้การสุ่มเหมือนเดิม โดยจะประมวลผลวันละ 2 ครั้ง คือ 9.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 16.00 น. ดังนั้น ควรรีบมาลงหรือแก้ไขการลงทะเบียนให้ทันก่อนการประมวลผลรอบแรก โดยระบบจะเปิดให้เข้าระบบประมาณ 9.00 น. และจะประมวลผลรอบแรกตอน 15.00 น. โดยระหว่างการประมวลผล เราจะเข้าระบบไม่ได้นะครับ
สำหรับวิชาที่ "แอดไม่ติด" เพราะเสคเต็ม ชื่อเราก็จะยังคงค้างรอแอดอยู่อย่างนั้น โดยเราจะเลือกรอต่อไป หรือกดยกเลิกการแอดก็ได้ แต่ถ้าเพราะติดคอน ก็ควรกดยกเลิกการแอดนะครับ
สำหรับวิชาที่ "แอดติด" ก็คือได้แล้ว! แต่ถ้าไม่พอใจ ก็เลือกที่จะกด Move หรือจะ Drop ก็ได้
Move คือ การย้ายเสค โดยถ้าอีกเสคยังว่าง ก็จะทำการสุ่มคนที่ต้องการ Move หรือ Add เข้ามาในเสค แต่ถ้า Move ไม่สำเร็จ ชื่อเราก็จะยังคงอยู่ในเสคเดิม และชื่อเราก็จะยังคงค้างรอมูฟอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะกดยกเลิก
Drop คือ การถอนกระบวนวิชา โดยการ Drop จะมี 2 แบบ คือ แบบไม่ติด W และแบบติด W (โดย W นี้จะไปปรากฎอยู่ในใบ Transcript ของเรา ว่าเราเคย Drop วิชานี้นั่นเอง)
โดยในเทอมที่ 1 จะแบ่งเป็น 2 รอบย่อย ๆ โดยรอบแรกจะเป็นของเด็กปี 1 เท่านั้น (ระยะเวลา 2 วัน)ให้น้อง ๆ ได้เข้าไปตรวจเช็กว่าแพ็กเกจที่ทาง มช. ลงมาให้นั้นครบถ้วนมั้ย? หรือมีวิชาอะไรต้องลงทะเบียนเองเพิ่มรึเปล่า? และรอบที่ 2 (วันที่เหลือ) ก็จะเป็นสำหรับนักศึกษาทุก ๆ ชั้นปีครับ (ปี 1 ด้วยนะ)
** สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ตารางมันจะเปลี่ยนเรื่อย ๆ ทุก ๆ ครั้งที่มีการประมวลผลนะครับ อย่างบางทีเราลงไปแล้ว มาดูอีกที อาจจะขึ้น C (ปิดเสค) ก็เป็นได้นะ เพราะคนน้อย ไม่มีอาจารย์สอน ไม่มีห้อง เวลาชน บลา ๆ ๆ หรืออาจจะมีคนลงเยอะ อาจารย์ก็อาจจะเปิดเสคใหม่ให้ ซึ่งอาจารย์ก็จะส่งข้อมูลให้กับทางสำนักทะเบียนเรื่อย ๆ ตลอดการลงทะเบียน และสำนักทะเบียนก็จะอัปเดตเรื่อย ๆ ทุก ๆ ครั้งที่มีการประมวลผลนั่นเอง ดังนั้น เราต้องเข้าไปเช็กบ่อย ๆ นะ **
เปิดเทอม
การเปิดเทอมจะเปิดในช่วงระหว่าง การเพิ่ม-ถอนกระบวนวิชา
เป็นช่วงเวลาที่เราได้ลองไปเรียนวิชาที่เราลงทะเบียนไว้ หรือกำลังจะลง ว่าโอเคมั้ย? น่าเรียนมั้ย? ถ้าไม่โอเค เราก็ไปดรอปออกได้ โดยในคาบแรกของทุก ๆ วิชา อาจารย์ก็จะแจก Course Syllabus ว่าวิชานี้เรียนอะไรอะไรบ้าง? มีการเรียนการสอนแบบไหน? เก็บคะแนนกันแบบไหน?
แอดมือ + Drop โดยไม่ติด W
(ระยะเวลา 5 วัน) (แอดมือกับอาจารย์ด้วยตนเอง)
แอดมือ คือการลงทะเบียนหลังจากวันเพิ่มถอนกระบวนวิชาผ่านเว็บ โดยเราจะต้องพริ้นต์เอกสารแอดมือ นำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาเซ็น แล้วนำไปยื่นกับอาจารย์ประจำวิชาเพื่อให้อาจารย์อนุมัติ
ซึ่งบางวิชาก็อาจจะรับ หรือไม่รับแอดมือก็ได้ หรืออาจจะให้ไปรวบรวมรายชื่อเพื่อทำการเปิดเสคใหม่เลย อันนี้ก็แล้วแต่อาจารย์ประจำวิชาจะพิจารณา ซึ่งเราก็ต้องไปเข้าเรียนและสอบถามกับอาจารย์ด้วยตนเอง
ระยะเวลาการแอดมือมี 5 วันก็จริง แต่ตัวเอกสารแอดมือจะออกก่อนหน้านั้น ซึ่งบางวิชาก็สามารถยื่นแอดมือได้เลย ตั้งแต่วันแรกที่มีเรียน โดยใบแอดมือจะมีวันที่กำกับอยู่ด้วย ดังนั้นใช้ให้ถูกเทอมนะครับ และลิงก์จะใช้ลิงก์เดิม ดังนั้นต้องรอให้ทาง reg เค้าอัปเดตอันใหม่ก่อนนะครับ (ใบแอดมือ TH / EN )
(Drop ผ่านระบบออนไลน์) โดยจะมีการประมวลผลวันละ 2 ครั้งเช่นกัน
สรุปผลการลงทะเบียน
จะมีการสรุปออกมาเป็นเอกสาร มชท.50 เพื่อใช้ในการจ่ายค่าเทอมต่อไป
เมื่อทำการสรุปผลการลงทะเบียนเรียนแล้ว หลังจากนี้ ก็ Drop ก็จะเป็นแบบ Drop W
จ่ายค่าเทอม
(ระยะเวลา 5 วัน)
การจ่ายค่าเทอมมีให้เลือก 4 วิธี คือ
1. ผ่านระบบ Bill Payment ก็คือพริ้นต์ใบ มชท.50 ไปจ่ายที่ธนาคาร (จ่ายได้จนกว่าธนาคารจะปิด) (หน่วยราชการสามารถใช้ใบเสร็จรับเงินที่ธนาคารเป็นผู้เซ็นรับเงิน พร้อมประทับตราธนาคาร เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง เลขที่ กค 0530.2/ว21783)
2. ผ่านระบบตัดบัญชีอัตโนมัติ (SCB Payment Gateway) (กรณีใช้ใบเสร็จเบิกค่าธรรมเนียมการศึกษา รับใบเสร็จตัวจริงได้ที่ งานการเงิน ชั้น 2 กองคลัง สำนักงานมหาวิทยาลัย (ตึกหลังกองพัฒนานักศึกษา))
3. ผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ที่กองคลัง สำนักงานมหาวิทยาลัย (ตึกหลังกองพัฒนานักศึกษา) ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามรายละเอียด โทร. 053-943130
4. ผ่านระบบ QR Code สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้หลังจากการทำรายการสมบูรณ์แล้ว ชำระได้ถึงเวลา 23.00 น.(เป็นวิธีเดียวที่ไม่มีค่าธรรมเนียม)
พิมพ์ใบเสร็จรับเงิน ย้อนหลังได้ที่ https://www1.reg.cmu.ac.th/scbqr/login.php
หน่วยราชการสามารถใช้ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์จากผู้รับเงิน เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง เลขที่ กค 0422.3/ว130 // เอกสารการเบิกค่าธรรมเนียมการศึกษา http://finance.oop.cmu.ac.th/?q=tuition_fee_announcement
สำหรับคนที่จ่ายไม่ทัน ก็มีให้จ่ายหลังกำหนดอีก 5 วันทำการนะครับ แต่จะต้องเสียค่าปรับด้วย โดย ป.ตรี เสียวันละ 50 บาท ส่วนบัณฑิต เสียวันละ 100 บาท โดยเราต้องไปติดต่อรับรองค่าปรับที่สำนักทะเบียนก่อน แล้วไปชำระเงินที่กองคลังอีกที
และถ้าหากยังไม่จ่ายเงินอีก การลงทะเบียนทั้งหมด ก็จะถูกยกเลิกครับ ดังนั้น แนะนำให้จ่ายตรงตามเวลานะครับ
สอบกลางภาค
ก่อนสอบทุกครั้งอย่าลืมดูหน่วยกิตของแต่ละวิชาด้วยนะครับ จะได้ให้ความสำคัญในการอ่านหนังสือสอบกันได้ถูก
เมื่อสอบเสร็จคะแนนออกแล้ว ให้รีบพิจารณาตัวเองนะครับ ว่าวิชานี้เราจะเรียนต่อไปไหวมั้ย? ถ้าไม่ไหวก็ให้ไป Drop W ครับ แล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่
บางวิชาก็จะไม่บอกคะแนนวิชากลางภาคนะครับ ตอนสอบเราควรคำนวนคะแนนคร่าว ๆ เผื่อไว้ด้วยนะครับ
Drop โดยติด W
(จริง ๆ การ Drop W เริ่มมาตั้งแต่วันที่สรุปผลการลงทะเบียนแล้ว ลากยาวมาจนถึงช่วงหลังสอบกลางภาค ประมาณ 20 วัน) (Drop W ผ่านระบบออนไลน์)
เมื่อหมดระยะเวลา Drop แล้ว จะไม่สามารถ Drop ได้อีก
การ Drop W ไม่มีผลต่อการได้เกียรตินิยมนะครับ
เมื่อก่อนต้องพริ้นต์เอกสาร เอาไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาเซ็น แล้วนำไปยื่นที่สำนักทะเบียน แต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนระบบใหม่เป็นแบบออนไลน์แล้ว ก็คือ เราสามารถกดถอนในเว็บลงทะเบียน จากนั้นรอให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าระบบแล้วกดอนุมัติ เพียงแค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย!!! แต่ก็ควรติดต่ออาจารย์เพื่อให้อาจารย์รับทราบด้วยนะ
เมื่อเรากด Drop W แล้ว อาจารย์จะสามารถเลือกได้ 3 อย่าง คือ Approved (อนุมัติ), Disapproved (ไม่อนุมัติ) ซึ่งเราสามารถกด Re-request to Withdraw เพื่อขอให้อาจารย์พิจารณาอีกครั้ง, Awaiting advisor's response (ให้นักศึกษาเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา)
อาจารย์ที่ปรึกษาสามารถกดอนุมัติได้ถึง 5 วันทำการหลังจากวันสุดท้ายของการ Drop W
สอบปลายภาค
นอกจากเราจะต้องปวดหัวกับการอ่านหนังสือสอบแล้ว ช่วงนี้ก็จะตรงกับช่วงลงทะเบียนเรียงล่วงหน้าของเทอมถัดไปด้วย!!!
ประกาศผลการเรียน
กำหนดการบอกไว้วันไหน ส่วนมากก็จะประกาศก่อนเสมอ ๆ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของสำนักทะเบียนเลย
ทั้งหมดนี้ก็คือ Timeline คร่าว ๆ ของปฎิทินทางการศึกษา ที่จะวนกลับมาทุก ๆ เทอม ซึ่งเราสามารถดูกำหนดการต่าง ๆ แบบเต็ม ๆ ได้ที่ reg.cmu.ac.th ในหัวข้อ ข่าวปฏิทินการศึกษา นะครับ

แต่ก็นั่นแหละครับ ตามที่เห็น ก็คือจะมีการเปลี่ยนแปลงปฎิทินอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเห็นในเพจว่าวันที่เปลี่ยนไปมา โพสต์เก่าวันนึง โพสต์ใหม่วันนึง ก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะกำหนดการมีการแก้ไขจริง ๆ ซึ่งทางแอดก็จะพยายามอัปเดตเรื่อย ๆ นะครับ
สามารถดูปฎิทินการเรียนและกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กันได้ที่ https://www.teammorchor.com/calendar หรือเข้าไปที่หน้าเพจ ทีมมช by AutoBot แล้วดูที่โพสต์บนสุดของเพจนะครับ (จะอยู่บนสุดเสมอ)
Commenti