1 ปีการศึกษา นานแค่ไหน?
- Pat Peera Pokuntha
- May 23, 2019
- 1 min read
Updated: Jun 10, 2019
เชื่อว่าน้อง ๆ ม.6 หลาย ๆ คน ที่พึ่งจะสอบติดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คงจะงงกันว่า “เราต้องลงเรียนซัมเมอร์มั้ยวะ??” (ตอนนั้นแอดก็งงเหมือนกันจ้า จะไม่ให้งงได้ไง ก็ดูตารางช่วงที่เราสอบติด มันเป็นช่วงเปิดเทอมซัมเมอร์พอดี!) อะ!!! ไปหาคำตอบกัน!!!
ปกติแล้วระดับปริญญาตรีในคณะส่วนใหญ่ จะเรียนกันทั้งหมด 4 ปี ด้วยกัน โดยแต่ละปี เราจะเรียกว่า “ปีการศึกษา” นั่นเอง
เช่น วันเริ่มต้นปีการศึกษานั้น เริ่มในวันที่อยู่ในปี พ.ศ. 2562 เราก็จะเรียกว่า “ปีการศึกษา 2562” แต่เราก็จะเรียก ปี 62 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบ ถึงแม้จะไปจบในปี พ.ศ. 2563 ก็ตาม เราก็จะเรียก ปี 62 อยู่ดี ก็คือให้ยึดวันเริ่มต้นเป็นหลัก
โดยเด็กปี 1 เข้ามาเริ่มเรียนในปีการศึกษาไหน ก็จะได้ชื่อว่าเป็นเด็กปีนั้น เช่น เริ่มเรียน พ.ศ. 2562 เราก็จะเรียกว่า เด็ก62 โดยเด็กทุกคนก็จะได้ “รหัสนักศึกษา” ที่เลขขึ้นต้นด้วยเลข 62 ด้วย!
กิจกรรมใน มช. ก็เช่นกัน จะชอบมีคนเข้าใจผิดว่าเราเขียนเลขในชื่องานผิดรึเปล่า? เช่น Sports Day & Spirit Night 2018 ที่จัดในปี 2019 แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราจะตั้งชื่องานตามปีการศึกษาจ้า (บางทีก็แอบสับสนเหมือนกัน ว่าตกลงจัดปีไหน 5555)
กลับเข้าเรื่องต่อ!!! ใน 1 ปีการศึกษา จะแบ่งเป็น 3 เทอมย่อย ได้แก่ เทอม 1, เทอม 2, เทอมซัมเมอร์
อะ! เดี๋ยวจะงงไปกันใหญ่ ไปดูรูปประกอบกันดีกว่า....

เราจะเริ่มต้นกันที่เทอม 1 ก่อนเสมอ ปิดท้ายที่ซัมเมอร์ (หรือที่เรียกแบบไทย ๆ ว่า “ภาคฤดูร้อน”) โดย 2 เทอมแรกจะเรียกว่า “ภาคการเรียนปกติ” ก็คือเทอมทั่วไปที่ทุกคนต้องเรียนกัน ส่วนซัมเมอร์คือไม่ปกติ! ก็คือเราจะลงเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ซึ่งปกติแล้วในหลักสูตรที่เราต้องเรียนนั้น ก็จะจัดให้เรียนเฉพาะเทอม 1 และ 2 เท่านั้น ส่วนซัมเมอร์คือแทบไม่มี หรือมีน้อยมาก เช่น เอาซัมเมอร์ไว้ไปฝึกงาน อะไรแบบนี้
เทอม 1, 2 แต่ละเทอมจะมีสอบ 2 ครั้ง คือ สอบกลางภาค และสอบปลายภาค โดยแต่ละเทอม จะกินเวลาประมาณ 5 เดือนด้วยกัน ส่วนซัมเมอร์จะมีสอบครั้งเดียวเป็นปลายภาคเลย โดยจะเรียนประมาณ เดือนครึ่ง!
สิริรวม 3 เทอม ก็จะรวมเป็นประมาณ 1 ปี พอดี ใครที่เรียน 3 เทอม นี่คือแทบไม่รู้จักคำว่าปิดเทอมเลยจ้า เรียนวนไป
ป.ล. ปีการศึกษา 2563 จะมีการกลับมาเปิดภาคการเรียนแบบสมัยก่อนแล้วนะ หลังจากที่มีการเปลี่ยนไปอิงตามอาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ กันมา
ภาคการเรียนปกติ vs ภาคซัมเมอร์ ?
1. สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือ “ค่าเทอม” จ้า ต้องบอกก่อนว่า มช. คิดค่าเทอมแบบเหมาจ่ายแล้วนะ ก็คือไม่ว่าเราจะเรียนกี่วิชาก็ตาม ก็ต้องจ่ายค่าเทอมเท่าเดิมจ้า โดยเทอมซัมเมอร์จะเสียประมาณครึ่งนึงของภาคการเรียนปกติ
2. ภาคการเรียนปกติ ส่วนใหญ่จะเรียนแค่วันจันทร์-ศุกร์ (บางทีไม่มีเรียนวันพุธด้วย) ซึ่งแต่ละวิชาก็จะเรียน 2 วัน เช่น จันทร์คู่พฤหัส (MTh), อังคารคู่ศุกร์ (TuF) แต่วันพุธ (W) ส่วนใหญ่จะเป็นชั่วโมงเข้าแลป วันเสาร์อาทิตย์บ้างเช่นพวกวิชาเสรีหรือคนที่เรียนภาคพิเศษ แต่ซัมเมอร์ด้วยระยะเวลาเรียนที่มีน้อย ก็เรียนไปเลยจ้า 1 วิชา เรียนตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ (M-F)
3. จากข้อ 2 เรื่องระยะเวลาในการเรียน ทำให้มีการกำหนดขอบเขตของหน่วยกิตที่จะต้องลงเรียนกันด้วย โดยภาคการเรียนปกติจะต้องเรียน 9 - 22 หน่วยกิต (ถ้ามากหรือน้อยกว่านั้นต้องทำเอกสารส่งให้คณบดีเซ็นรับรอง / ส่วนใหญ่จะเป็นปีสุดท้ายที่ได้ทำกัน ฟีลแบบเรียนไปหมดแล้วไรงี้ เหลือไม่กี่วิชา) ส่วนซัมเมอร์เรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิตจ้า (เรียนเยอะกว่านี้ต้องแยกร่างเรียนได้แน่ ๆ !!)
4. เรื่องเกรด!! ว่ากันว่าเทอมซัมเมอร์ได้เกรดที่ดีกว่า อาจจะด้วยคนเรียนไม่เยอะ การแข่งขันเลยไม่สูง อาจารย์ก็ชิว ๆ ก็เลยได้คะแนนกันง่าย (ซึ่งจริงไม่จริงก็ไม่รู้นะ แต่ก็ประมาทไม่ได้นะ พูดเลย!)
5. ในความเป็นจริง คือเราจะลงเรียนกันจนเกือบเต็ม ประมาณ 20 - 22 หน่วยกิตในภาคการเรียนปกติ ทำให้ถ้าเรา Drop W หรือได้เกรด F ขึ้นมา เวลาเรียนก็อาจจะไม่เพียงพอ เลยทำให้ต้องไปลงเรียนซัมเมอร์เพิ่มเติมด้วยนั่นเอง
มาถึงตรงนี้ คงได้คำตอบกันเรียบร้อยแล้วใช่มั้ยเอ่ย!? อยากจะฝากบอกถึงน้อง ๆ ที่สอบติด มช. กันว่า ”บ่าต้องฟั่ง!” (แปลว่า ไม่ต้องรีบ!) เดี๋ยวพอใกล้ถึงวัน พี่ ๆ ที่น่ารักก็จะมาบอกน้องเอง ว่าต้องทำอะไร 55555
ป.ล. ถ้าในบทความมีคำศัพท์อะไรแปลก ๆ หรืองงส่วนไหนที่ได้ไปพูดถึง ติดตามอ่านต่อกันได้บทความต่อ ๆ ไปเลยจ้า ค่อย ๆ ศึกษากันไป เดี๋ยวก็เข้าใจมากขึ้นเอง 55555
ป.ล. 2 ฝากแชร์บทความนี้ก็ด้วยน้าาาา กราบบบบ
Comments